สมุนไพรอย่าง ตะคร้อ จัดว่าเป็นไม้ต้นยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่มีความสูงประมาณ 10- 25 เมตร
ลำต้นมีลักษณะคดงอ เป็นปุ่มปมทั่ว และมีเรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้าง เหมาะสำหรับปลูกเป็นพืชสมุนไพรและพืชติดบ้านที่ให้ร่มเงาได้ดี มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยหรือรูปร่ม
ลักษณะโดยทั่วไปของตะคร้อ ชื่ออื่นๆ เช่น ตะคร้อไข่ มะเคาะ ชื่อพฤกษศาสตร์ ว่า Schleichera oleosa (Lour.) Oken อยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE โดยจะมีเปลือกสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นสะเก็ดหนาๆ มีใบเรียงสลับซ้ายขวา เป็นใบประกอบ แบบขนนกปลายคู่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมไข่กลับ มีขอบใบเป็นคลื่น
โดยช่อดอกจะออกตามแยกแขนงที่ง่ามใบและปลายกิ่ง มีสีเหลืองอมเขียว มีผลมีรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ส่วนปลายแหลม มีความแข็ง เมื่อผลสุกจะมีสีเหลือง ต้นตะคร้อจะออกดอกเดือน มีนาคม – เมษายน ออกผลในช่วงเดือน มีนาคม – กรกฎาคม ของทุกปี
ตะคร้อ ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกว่า กาซ้อง คอส้ม (เลย), เคาะ (นครพนม, พิษณุโลก), ค้อ (กาญจนบุรี), เคาะจ้ก มะเคาะ มะจ้ก มะโจ้ก (ภาคเหนือ), ตะคร้อไข่ (ภาคกลาง), ซะอู่เสก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กาซ้อ คุ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ปั้นรั้ว (เขมร-สุรินทร์), ปั้นโรง (เขมร-บุรีรัมย์), บักค้อ ตะค้อ หมากค้อ
ประโยชน์ของตะคร้อ เนื้อไม้ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ แปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ ทำฟืนและถ่าน เปลือก ใช้ย้อมสีผ้า หรืออื่นๆ ใบอ่อนสามารถกินเป็นผักเคียงได้ ใบแก่ต้มเป็นยาแก้ท้องอืด ผลตะคร้อมีลักษณะเป็นทรงกลมหรือรูปไข่ปลายติ่งแหลม แข็ง ผลดิบมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อสุก เนื้อในมีสีเหลืองส้ม รับประทานได้ ลักษณะเนื้อเป็นเยื่อหุ้มเมล็ด แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด
ตะคร้อ เป็นสมุนไพร ที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย มีการขยายพันธุ์แทบจะทุกภาคของประเทศ เป็นไม้ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ในต่างประเทศพบได้มากที่ ศรีลังกา อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย
การขยายพันธุ์ตะคร้อ นั้นใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง ส่วนใหญ่ไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ในป่าโปร่ง พบเห็นได้ทั่วไป
ตำรายาพื้นบ้านของสมุนไพรตะคร้อ
- แก่น : ต้มน้ำดื่ม แก้ฝีหนอง
- เปลือก : ต้มน้ำดื่มเป็นยาสมานท้อง แก้ท้องร่วง ใช้เป็นยารักษาผิวหนังอักเสบ และแผลเปื่อยได้ดี
- น้ำมันจากเมล็ด : บำรุงผม แก้ผมร่วง น้ำมันที่สกัดจากเมล็ด หรือ Kusum oil ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำมันที่ใช้ตกแต่งทรงผมและบำรุงเส้นผม อาจใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรมผ้าบาติก
- น้ำต้มเปลือก : ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน (Mahaptma & Sahoo, 2008) นอกจากนี้ สารแทนนินและสีย้อมที่ได้จากเปลือกยังสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหนังได้อีกด้วย
ตะคร้อมีประโยชน์อื่นอีกมากมาย เช่น
- ใบและกิ่ง : ใบอ่อนกินสดหรือนำมาลวกกินเป็นผักเคียง ใบและกิ่งรวมถึงกากเมล็ดนำมาทำเป็นอาหารสัตว์
- ลำต้น : ในประเทศอินเดียใช้ต้มตะคร้อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ครั่ง
- เนื้อไม้ : นำมาทำฟีนและถ่ายได้ดี แก่นไม้ซึ่งมีความแข็งและทนทานสามารถนำมาทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้หลายชนิด เช่น ส่วนของด้ามจับครกบดยาด้ามขวานหรือพลั่ว และล้อเกวียน
- เมล็ด : บดแห้งสามารถใช้ในแผลอักเสบของสัตว์พวกวัว-ควาย เพื่อกำจัดหนอนและแมลงที่ตอมแผล
- ผล : ผลตะคร้อสุกสามารถนำมากินได้ ส่วนผลดิบสามารถนำมาทำเป็นผลไม้ดอง
งานวิจัยอ้างอิงตระคร้อเป็นสมุนไพรชั้นดี
- งานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาฤทธิ์ทางยาของส่วนเปลือกลำต้นตะคร้อโดยการทดสอบฤทธิ์ในหนูทดลอง พบว่ามีส่วนช่วยลดปริมาณน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะป้องกันและลดการอักเสบอันเนื่องมาจากแผลในกระเพาะอาหารได้ (Srinivas & Celestin, 2011)
- สารสกัดจากเปลือกและลำต้นมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ (Ghosh et al., 2011) และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Pettit et al., 2000 ; Thind et al., 2010)
- งานวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันในเมล็ดตะคร้อ ซึ่งมีชื่อเรียกทางอินเดียว่า Kusum oil หรือ Macassar oil สามารถนำไปใช้ในทางยา โดยใช้บรรเทาอาการคัน ผิวหนังอักเสบ แผลไฟไหม้ โรคเกี่ยวกับไขข้อกระดูก รวมถึงช่วยบำรุงรากผมให้แข็งแรง (Council of Scientific & Industrial Research, 1972 ; Maharashtra State Gazetteers Department, 1953 อ้างโดย Palanuvej & Vipunngeun, 2008)