ชวนปลูกมะเขือเปราะหลังฝน

ชวนปลูกมะเขือเปราะหลังฝน

ครั้งก่อนเคยได้มะเขือกาตูนมาปลูก ก็ไม่ยาก เพราะมะเขือปลูกง่าย ช่วงเริ่มปลายฝนแบบนี้ อยากปลูกมะเขือเปราะดูบ้าง

ช่วงแรก ๆ สำหรับการปลูกมะเขือ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน จะยากตรงที่การเพาะเมล็ดให้เกิดต้นอ่อน แต่พอต้นอ่อนแทงยอด ก็เรียกว่า ผ่านมาครึ่งทางแล้ว เพราะต้นอ่อนมะเขือ หากมีการแทงยอดอ่อน ก็จะตายยากมาก ขนาดไก่เขี่ยกระจุยกระจาย ขอแค่ไม่ให้ดินและต้นอ่อนแห้ง รับรองว่าได้ต้นแน่นอน

แม้ไม่ต้องใส่ปุ๋ยพรวนดิน หรือทำการเลี้ยงดูดี ๆ มากนัก ก็สามารถโตเป็นต้นจนกระทั่งให้ผลผลิตได้ไม่ยาก ยกเว้นต้นอ่อนและดินแห้งผากจริง ๆ แบบนี้ฟื้นยาก สำหรับวันนี้เลยอยากนำเสนอเรื่อง การปลูกมะเขือเปราะ เอาไว้เป็นความรู้ให้ผู้สนใจได้อ่านกัน

รู้จักมะเขือก่อนปลูกมะเขือเปราะ

มะเขือ จัดเป็นผลไม้ ที่อยู่ในกลุ่มผัก อยู่คู่กับครัวไทยมานานแสนนาน ยิ่งกับ มะเขือเปราะ คนไทยก็คุ้นเคยเป็นอย่างดี ด้วยลักษณะสีเขียว มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง กินกับเครื่องเคียงทั้งหลาย เช่น น้ำพริกหลากหลายชนิด มีรสชาติที่อร่อยมาก หวานปนฝาดเล็กน้อย

มะเขือเปราะสีม่วง

สำหรับสายพันธุ์มะเขือนั้น ก็มีหลายชนิดแตกต่างกันออกไป จำแนกจากลักษณะรูปร่างที่ปรากฏ เช่น มะเขือยาว มะเขือม่วง (เล็ก/ใหญ่) มะเขือขาว มะเขือเหลือง มะเขือไข่เต่า มะแว้ง มะเขือตอแหล มะเขือพวงฯลฯ ยิ่งอากาศร้อนๆ ยิ่งปลูกง่าย เพราะมะเขือตายยาก ทนแล้งและทนต่อทุกสภาพอากาศ

ต่างชาติโดยเฉพาะพวกฝรั่ง จะเรียกมะเขือว่า Aubergine โอเบอร์ซีน หรือ Eggplant เอ้กแพลนท์ คงจะคิดว่าเป็นผักมีลักษณะกลมๆ คล้ายไข่ เพราะมีสีขาว หรือขาวอมเหลือง ซึ่งในตอนที่ตั้งชื่อก็ยังไม่ได้มีสายพันธุ์สีม่วงเหมือนในสมัยนี้ ส่วนใหญ่เรียกกันในแถบอเมริกา ทางด้านอินเดียเรียกมะเขือว่า บรินจัล Brinjal สายพันธุ์มะเขืออินเดียอร่อย มีรสหวาน ไม่ฝาดเหมือนมะเขือเปราะของไทย

ชนชาติจีนและญี่ปุ่น มีมะเขือกินกันนานแล้ว แต่เป็นสายพันธุ์มะเขือยาว ไม่ใช่แบบลูกกลมๆ เหมือนในประเทศไทย มะเขือยาวทั้งหลาย ในเมืองไทยมีสีเขียวอ่อน ม่วงอ่อน ม่วงอมแดง บ้างยาวเรียว บ้างยาวอวบ แยกไปตามสายพันธุ์ ซึ่งมะเขือเอง ก็จัดอยู่ในกลุ่มของพืชที่เรียกกันว่า ไนต์เชด Nightshade ส่วนใหญ่มีพิษต่อมนุษย์ หากไปเจอมะเขือแปลกๆ ในป่าเขาก็ไม่ควรเอามาชิมกินหรือทดลองกิน เพราะเห็นว่ามีลักษณะเหมือนมะเขือพวง เดี๋ยวมีหวังจะได้ชักดิ้นชักงอกันตรงนั้นน่ะสิ

ประโยชน์ของมะเขือ

มะเขือมีกากใยสูงและมีปริมาณแร่ธาตุมากแยกไปตามสายพันธุ์ เช่น โพแทสเซียม แมงกานิส ทองแดง วิตามินบี 1 และ บี 6 มีโฟเลตสูงด้วย ใครที่ต้องการโฟเลตรับประทานมะเขือเปราะทุกวัน วันละ 2 ลูก ก็เพียงพอ แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย มีสารต้านมะเร็ง และสามารถควบคุมคอเลสเตอรอลได้ดีอีกด้วย

มีข้อบ่งชี้ว่า มะเขือมีสารนิโคตินอัลคาลอยด์เหมือนในบุหรี่ แต่ต้องกินมะเขือประมาณ 10 กิโลกรัมถึงจะเทียบเท่าการดูดบุหรี่ 1 มวน

ปลูกมะเขือเปราะ ทำได้เองไม่ยาก

  • เตรียมดินละเอียดพร้อมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และใส่ดินผสมดังกล่าวลงในถาดพลาสติกเพาะกล้า
  • ใช้เศษไม้เล็กๆ (ขนาดเท่าไม้จิ้มผลไม้) กดลงไปในดินที่บรรจุอยู่ในถาดพลาสติกเพาะกล้า ขนาดความลึก 0.5 ซม.
  • นำเมล็ดมะเขือเปราะหยอดลงในหลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด และกลบดิน
  • หลังเพาะนาน 7-10 วัน มะเขือเปราะเริ่มงอก หมั่นรดน้ำต้นกล้ามะเขือเปราะทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเข้าและเย็นจนกระทั่งต้นกล้ามะเขือเปราะมีอายุ 25-30 วัน จึงย้ายกล้ามะเขือเปราะลงปลูกในกระถางหรือในแปลงปลูก

ชวนปลูกมะเขือเปราะหลังฝน

ถ้าปลูกในแปลงควรเตรียมดินปลูก โดยใช้จอบขุดย่อยดินหน้าดินลึก 15-20 ซม. และย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยหมัก หว่านและคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ในกรณีปลูกมะเขือเปราะในกระถาง ให้ผสมดินปลูกในกระถาง โดยใช้ดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 มะเขือเป็นพืชที่มีระบบรากปานกลาง การเพาะกล้าควรขุดไถดินลูกประมาณ 15 ซม. ตากดินไว้ 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยคอกคลุกเคล้าในดินเพื่อช่วยให้ดินร่วนฟู พรวนดินให้ละเอียด หว่านเมล็ดมะเขือทั่วแปลง แล้วหว่านปุ๋ยคอกกลบทับ

แปลงมะเขือเปราะ

ควรรดน้ำทุกวัน และในช่วงการติดผลต้องระมัดระวังในการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 45-60 วัน มะเขือเปราะเริ่มทยอยผลผลิต สามารถเก็บผลผลิตไปบริโภคได้ หลังจากที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเปราะไปแล้วประมาณ 2 เดือน ควรตัดแต่งกิ่งออกบ้าง เพื่อทำให้ลำต้นมะเขือเปราะเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านใหม่ที่มีความแข็งแรง จะให้ผลผลิตรุ่นใหม่ได้อีก และควรทำการตัดแต่งและบำรุงต้นมะเขือเปราะด้วยฮอร์โมนทุกๆ 2-3 เดือน

โรคและแมลงศัตรูพืชของมะเขือเปราะ โรคที่สำคัญของมะเขือคือโรคใบด่าง โรคเหี่ยว แอนแทรคโนส โรคผลเน่า แมลงที่พบบ่อยคือ เพลี้ยไฟ หนอนเจาะผล แมลงวันทอง

อ้างอิง : มะเขือยาว

share on: