แนวทางการปรับปรุงดินให้เหมาะกับการทำเกษตร

ปุ๋ยหมักชีวภาพ มีประโยชน์กับพืชอย่างไร

แนวทางการปรับปรุงดินสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการเพาะปลูก เพื่อให้การปลูกพืช เติบโตอย่างมีคุณค่า ทั้งพืชที่ใช้รับประทาน หรือพืชยืนต้นใช้สอยอื่น

เพราะพืชทั้งหลายนั้น ย่อมต้องการอาหารไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น และอาหารส่วนใหญ่ ล้วนอยู่ในดิน การใส่ปุ๋ยเคมีอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคมีนั้น ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อดิน ยิ่งมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สารอาหารที่ไม่จำเป็น และพืชไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ จะถูกสะสมลงในดิน

นานวันเข้า ยิ่งจะทำให้เกิดผลเสียแก่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดดินแห้งกรัง ดินเค็ม ดินเปรี้ยว ทำให้สุดท้าย ก็เพาะปลูกไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ จะเกิดมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับธาตุอาหารและสารเคมีที่มีการผสมลงไปในปุ๋ย และพืชไม่ได้นำไปใช้จนเกิดการสะสมนั้นเอง

การแก้ปัญหาเรื่องดินมีแร่ธาตุอาหารเกินความจำเป็น และมีผลเสียในหลายอย่าง ด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน แต่อาจแก้ได้ไม่ดีนัก หากพื้นที่เหล่านั้น อาการหนัก อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นพื้นดินกลับมาให้สามารถเพาะปลูกได้

หนึ่งในวิธีที่หลายคนนึกมักจะเริ่มจาก การปลูกพืชตระกูลถั่ว เพราะเข้าใจว่าจะเป็นการช่วยปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพราะพืชตระกุลถั่วจะไปช่วยนำสารอาหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ประโยชน์ และคายเอาแร่ธาตุหลาย ๆ อย่างที่เป็นประโยชน์แก่พืชลงในดิน แต่หากเราไม่ปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง ก็ไม่ต่างอะไรกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ดังนั้น การปลูกพืชหมุนเวียนร่วมกับพืชตระกูลถั่ว จึงดีกว่า

ต้นก้ามปู เพื่อการปรับปรุงดินให้เหมาะกับการทำเกษตร

พืชตระกูลถั่วที่สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงดินได้ดี ในประเทศไทยเอง ก็มีหลายร้อยชนิด เริ่มจากไม้ใหญ่ เช่น มะแต้ มะค่า มะขามเทศ จามจุรี ก้ามปู จนถึงพืชคลุมดินชนิดอื่น ๆ เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วขอ พืชตระกูลถั่วเหล่านี้ มีประโยชน์ต่อดินเป็นอย่างมาก แต่การปรับปรุงดินที่ดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรเริ่มจากขั้นตอนนี้ก่อน

การปรับปรุงดิน 7 วิธี เพื่อให้ดินดีมีคุณภาพ

  1. ใช้ปุ๋ยคอก การใช้มูลสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งมูลสัตว์มักจะสูญเสียธาตุอาหารไปได้ง่าย จึงควรใช้เศษซากพืช เช่น ฟาง แกลบฯ รองพื้นคอกสัตว์ เพื่อดูดซับธาตุอาหารจากมูลสัตว์ไว้ด้วย
  2. ใช้ปุ๋ยหมัก การนำเอาเศษซากพืชที่เหลือจากการเพาะปลูก เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ต้นถั่วต่าง ๆ ผักตบชวา และของเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมตลอดจนขยะมูลฝอย มาหมักจนเน่าเปื่อยแล้วนำไปใช้ในไร่นาหรือสวน
  3. ใช้ปุ๋ยพืชสด การไถกลบส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ยังสดอยู่ลงในดิน เพื่อให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย ส่วนใหญ่จะใช้พืชตระกูลถั่ว เพราะให้ธาตุไนโตรเจนสูง และย่อยสลายง่าย โดยเฉพาะในระยะออกดอก อาจปลูกแล้วไถกลบในช่วงที่ออกดอกหรือปลูกแล้วตัดส่วนเหนือดินไปไถกลบลงในดิน พืชที่นิยมใช้เป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ โสนอัฟริกัน โสนอินเดีย ปอเทือง ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ กระถินยักษ์ และแหนแดง
  4. ปลูกพืชคลุมดิน นิยมใช้พืชตระกูลถั่วที่มีคุณสมบัติคลุมดินได้หนาแน่นเพื่อกันวัชพืช ลดการชะล้าง เก็บความชื้นไว้ในดินได้ดี และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ได้แก่ ถั่วลาย ถั่วคุดซู ถั่วคาโลโปโกเนียม
  5. ใช้วัสดุคลุมดิน นิยมใช้เศษพืชเป็นวัสดุคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดิน ป้องกันการอัดแน่นของดินเนื่องจากเม็ดฝน ป้องกันวัชพืชขึ้น และเมื่อเศษพืชเหล่านี้สลายตัว ก็จะกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน
  6. ใช้เศษเหลือของพืชหรือสัตว์ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ส่วนของต้นพืช เศษพืชที่เหลือ เช่น ต้นและเปลือกถั่วลิสง แกลบ ตอซัง หรือวัสดุอื่น ๆ ถ้าไม่มีการใช้ประโยชน์ควรไถกลบกลับคืนลงไปในดิน ส่วนเศษเหลือของสัตว์ เช่น เลือดและเศษซากสัตว์จากโรงงานฆ่าสัตว์ ก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุได้
  7. ปลูกพืชหมุนเวียน โดยปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียนในพื้นที่เดียวกัน ควรมีพืชตระกูลถั่ว ซึ่งมีคุณสมบัติบำรุงดินร่วมอยู่ด้วยเพื่อให้การใช้ธาตุอาหารจากดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพลดการระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนช่วยให้ชั้นดินมีเวลาพักตัวในกรณีพืชที่ปลูกมีระบบรากลึกแตกต่างกัน

เรียนรู้การเพาะเมล็ดองุ่นไว้ปลูกเองที่บ้าน

การปรับปรุงดิน ควรใช้หลาย ๆ วิธีดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน เพราะการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ หากใช้เพียงชนิดเดียวทำให้ต้องใช้ปริมาณที่มาก จึงควรพิจารณาปริมาณการใช้ตามกำลังความสามารถที่มี

แต่ถ้าใช้การปรับปรุงบำรุงดินหลายวิธีร่วมกัน ปริมาณที่ใช้ในแต่ละชนิดก็ลดลง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้มากและควรมีการปฏิบัติบำรุงดินอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สูงอยู่เสมอ เพื่อประโยชน์ต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตรในระยะยาวต่อไป

อ้างอิงจาก

share on: