การทาบกิ่ง หรือ GRAFTING ถือเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์เดิม หรือเพื่อช่วยให้ต้นพันธุ์ดีเดิมหาอาหารได้ง่ายขึ้น และมีประโยชน์อื่นอีกมาก
วันนี้ขอแนะนำวิธีการทาบกิ่ง เพื่อจะทำให้ต้นพันธุ์ดีมีผลผลิตได้หลายสายพันธุ์ หรือเพื่อรักษาต้นพันธุ์เดิมไว้ให้แข็งแรงขึ้น
ปกติแล้ว การทำให้ผลไม้ 1 ต้นมีผลผลิตได้หลายสายพันธุ์จะมีวิธีการขยายพันธุ์พืชแบบหลากหลาย ที่นิยมก็เป็นการเสียบกิ่ง การทาบกิ่ง ติดตา ต่อยอด ฯลฯ ตามแต่จะเรียก แต่วันนี้ขอแนะนำการทาบกิ่ง ซึ่งสะดวกและสามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก อัตราการรอดและสำเร็จมีสูงกว่าวิธีอื่น (ทั้งนี้แต่ละวิธีก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของเกษตรกรเองด้วย สำหรับผู้เขียนขอเลือกวิธีนี้ เป็นวิธีที่ถนัดที่สุด)
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทาบกิ่ง
- มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์
- กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
- แผ่นพลาสติกขนาด 0.5×12 นิ้ว หรือเทปพลาสติกสำเร็จรูปเป็นม้วน
- ต้นตอพันธุ์ดีอื่นหรือตุ้มทาบ
- เชือกหรือลวด
การทาบกิ่งแบบพาดร่อง (Inlay approach grafting)
โดยวิธีที่จะทำคือ การทาบกิ่งแบบพาดร่อง ทำง่าย เพราะการทาบกิ่งวิธีนี้ ส่วนใหญ่มีจุดประสงก็เพื่อการเปลี่ยนยอด หรือการเสริมรากให้ต้นไม้ที่มีระบบรากไม่แข็งแรง หรือระบบรากถูกทำลาย โดยมีขั้นตอนดังนี้
- กรีดเปลือกต้นตอที่จะทาบทั้งสองต้น ตรงบริเวณที่จะทำการทาบ ให้มีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว โดยกรีดเป็นรอย 2 รอยให้ขนานกัน และให้รอยกรีดห่างกันเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งพันธุ์ดีที่ต้องการทาบ
- กรีดเปลือกตามขวางตรงหัวและท้ายรอยกรีดที่ขนานกัน แล้วแกะเอาเปลือกออก (จะได้เป็นรูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า)
- เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เข้าไปในเนื้อไม้เป็นรูปโล่ และให้ยาวเท่ากับความยาวของแผลที่เตรียมไว้บนต้นตอ
- ทาบกิ่งพันธุ์ดีตรงบริเวณที่เฉือนนั้นให้เข้าในแผลบนต้นตอสนิทพอดี
- ใช้ตะปูเข็มขนาดเล็กตอกกิ่งพันธุ์ดีติดกับต้นตอ แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
- รอเวลาซัก 3-4 สัปดาห์ เมื่อกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอติดกันดีแล้ว จึงทำการตัดยอดต้นที่ไม่ต้องการออก และตัดรากโคนใต้รอยต่อกรณี เพื่อเปลี่ยนเป็นยอดพันธุ์ดีแทน
วิธีนี้ส่วนใหญ่แล้วได้ผลเกือบ 100% จะมีบ้างที่ต้นพันธุ์ตายเนื่องจากขาดน้ำ จะต้องดูแลหลังการทาบกิ่งต่อเนื่อง
การดูแลหลังจากทำการทาบกิ่งแล้ว
- ควรให้น้ำแก่ต้นแม่พันธุ์ และกิ่งพันธุ์ดีอย่างสม่ำเสมอ
- กรณีที่ส่วนยอดกิ่งพันธุ์ดีหลังจากทาบแล้วมีโรคและแมลงเข้าทำลาย ควรกำจัดโดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค และแมลง
- กรณีที่มีพายุหรือฝนตกหนักต้องหาไม้มาช่วยพยุงหรือค้ำกิ่งไว้เพื่อไม่ให้กิ่งพันธุ์ที่ทำการทาบหักหรือหลุดออกจากกันได้
- กรณีที่ทำการทาบหลายตุ้มในกิ่งเดียวกันควรต้องหาไม้ค้ำ หรือเชือกโยงไว้กับลำต้นเพื่อไม่ให้กิ่งใหญ่หักเสียหาย
การดูลักษณะของกิ่งทาบที่ทำสำเร็จและตัดชำหรือตัดเปลี่ยนยอดได้
- กิ่งทาบแล้วจะต้องมีอายุประมาณ 45-60 วันขึ้นไป
- สังเกตรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีว่าประสานกันดี หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และนูนถือว่าใช้ได้
- กระเปาะหรือตุ้มทาบมีความชื้นพอประมาณณและค่อนข้างแห้ง ไม่ชุ่มน้ำเกินไป
เมื่อการทาบกิ่งประสบความสำเร็จและแผลประสานกันดีเป็นกิ่งเดียวกัน ก็แกะพลาสติกออกและตัดยอด ตัดโคนต้นพันธุ์ที่ทาบออก จะได้ยอดพันธุ์ใหม่ที่ต้องการ และเจริญเติบโตต่อไป กรณีต้องการเพิ่มรากและระบบหาอาหารให้ต้นพันธุ์ ก็ใช้วิธีการเดียวกัน
ความคิดเห็นสำหรับผู้เขียนเอง คิดว่า การทาบกิ่งผลไม้เพื่อให้ได้ผลผลิตหลายสายพันธุ์นั้นเป็นสิ่งดี เช่นต้นมะม่วงอาจมีเพียงต้นเดียวแต่มีลูกได้หลายสายพันธุ์ ทั้งมะม่วงแรด เขียวเสวย น้ำดอกไม้ ฯลฯ แต่เมื่อความหลากหลายของสายพันธุ์นั้นแตกต่างกันเกินไป เช่นจากมะม่วง เป็นส้ม มังคุด หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่พืชสายพันธุ์เดียวกัน การจะให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้นทำได้ยาก เนื่องจากสายพันธุ์ผลไม้แต่ละชนิด ก็จะมีต้นตอที่ดูดซับสารอาหารได้ไม่เหมือนกัน
การใช้ต้นตอเดียวกันก็ย่อมได้สารอาหารที่จำเป็นสำหรับต้นพันธุ์เดิม และสายพันธุ์ใหม่อาจได้รับสารอาหารที่จำเป็นน้อยลง จึงไม่ค่อยนิยมทำกันในพืชที่ให้ผลผลิตอย่างผลไม้ ยกเว้นต้องการหลากหลายและสวยงาม ส่วนใหญ่นิยมกันในพืชสวยงาม ไม้ดอกไม้ประดับมากกว่า เพื่อต้องการความสวยงาม และไม่ได้เน้นผลผลิต
หากเกษตรกรนิยมการเพิ่มผลผลิตที่หลากหลายควรปลูกผลไม้หลากหลายชนิดจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การทาบกิ่ง กดเลย