ประเทศไทยเกิดน้ำท่วมในหลายปี สำหรับผู้เขียนนั้นได้ประสบเจอในปี 54 พายุเข้ามาติดกัน 3-4 ลูก คาดว่าเกินจะรับไหว ผ่านมา 10 ปีก็คิดว่าน่าจะได้บทเรียนบ้าง
พอปี 64 ก็ท่วมหนักกว่าเดิม แถมเขื่อนยังแตกซ้ำเข้าไปอีก
ถึงอย่างนั้นก็ขอให้ผ่านวิกฤติน้ำท่วมโดยปลอดภัย และหากน้ำลดแล้วและกำลังมองหาวิธีการดูแลต้นไม้หลังน้ำลด เราก็พร้อมแนะนำวิธีการที่ควรทำ เพื่อให้พืชผักผลไม้ได้อยู่รอดไปอีกยาวนาน
การดูแลต้นไม้ภายหลังน้ำลด
- เมื่อระดับน้ำลดแล้ว แต่ดินยังเปียกหรือชุ่มน้ำอยู่ ห้ามเดินย่ำผิวดินโดยเด็ดขาด เนื่องจากดินรอบระบบรากยังอิ่มตัวด้วยน้ำ ควรปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งไปอย่างนั้นประมาณ 2 วัน หรือให้หน้าดินแห้งเสียก่อน
- ถ้าต้นไม้ทรงตัวไม่ดีและทำท่าว่าจะล้ม อย่ากดดินให้แน่น หรืออย่าเติมดินเข้าไปเพิ่ม เพราะระหว่างนี้รากยังไม่สามารถหาอาหารได้ ควรหาไม้มาค้ำยันไว้กันล้มแทนเป็นลำดับแรก
- เมื่อหน้าดินเริ่มแห้งหมาด ให้ใช้ปุ๋ยฉีดพ่นทางใบให้แก่พืช ปุ๋ยที่มี NPK ในอัตรา 1:1:1 ผสมกับน้ำตาลทราย 1% ฉีดพ่นให้กับต้นไม้ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 3 วัน /ครั้ง เพื่อฟื้นคืนสภาพต้นโดยเร็วและเร่งสร้างระบบรากที่ต้นไม้ให้เร็วขึ้น
- การสำรวจควรดูที่ใบ หากเหลือง เหี่ยว ไม่สดใส ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง การตัดแต่งกิ่งจะช่วยจำกัดให้รากที่เสียหายได้ฟื้นฟูสภาพ ไม่ต้องส่งสารอาหารมาเลี้ยงกิ่งและใบ และทำให้แสงแดดส่องถึงดีขึ้น ไม่เกิดโรคและแมลงซ้ำ
- พืชคลุมดินส่วนใหญ่จะตายหมด ให้ลอกขุดทิ้งไปเลย ส่วนต้นที่พอจะรอดได้ ให้รีบขุดขึ้นมาตัดส่วนที่เน่าออกและนำไปพักฟื้นที่กระถางต้นไม้ชั่วคราวก่อน
- ในช่วง 5 วันแรกหลังน้ำลด ไม่ควรให้น้ำหรือปุ๋ย หรือยาต่างๆ แก่ต้นไม้ เมื่อต้นไม้เริ่มฟื้นตัวได้เองแล้วจึงค่อยให้น้ำ แต่ควรให้น้อยๆ แล้วควรให้ปุ๋ยและฮอร์โมนทางใบแทน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของราก
- เมื่อต้นไม้ฟื้นตัวดีแล้วค่อยบูรณะ ปรับพื้นที่ ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย เพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น
เมื่อน้ำท่วม ปัญหาการตายของต้นไม้มักเริ่มที่รากก่อนเสมอ เพราะน้ำจะแทรกซึมเข้าไปในช่องว่างของดิน ทำให้ต้นไม้ขาดอากาศหายใจ หากต้นไม้มีรากไม่ลึกมากพอที่จะหนีน้ำท่วมได้ ก็จะตายในที่สุด โดยเฉพาะ มะม่วง ทุเรียน ขนุน และไม้ผลบางชนิด ที่มีรากไว้สำหรับเก็บออกซิเจนโดยตรง ก็จะไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีน้ำท่วมขังแม้เวลาไม่นาน
ต้นไม้โดนน้ำท่วม และอาการที่แสดงว่าใกล้ตาย
ต้นไม้พวกนี้มักจะแสดงอาการและบ่งบอกว่าแย่แล้ว และต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือด่วนที่สุดภายหลังน้ำลด หากช่วยได้ถูกต้องและทัน ต้นไม้และพืชผลก็อาจยังรอดและเติบโตได้ดีต่อไปในภายหลัง
- อาการใบเหลือง แม้จะไม่เด่นชัดในวันแรกที่ท่วม แต่จะพบชัดเจนมากขึ้นในวันต่อมา และมักจะพบอาการดังกล่าวเกิดขึ้นที่ใบมีอายุมาก หรือใบที่อยู่ทางส่วนโคนของกิ่งในแต่ละกิ่งย่อย และจะเหลืองเข้มมากขึ้นเรื่อยๆ จนร่วงหล่น ส่วนอาการซีดเหลืองนั้นมักจะพบในกรณีที่ต้นไม้ถูกน้ำท่วมขังต่อเนื่อง และนอกจากนี้ยังพบอาการใบลู่หรือห้อยลงแบบไม่สดใสอีกด้วย
- ทิ้งใบ ดอก และผล ระบบรากต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังจะก่อให้เกิดสภาวะเครียดขี้นมา ซึ่งความเครียดนี้ ส่งผลให้ต้นไม้มีการกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนเอทธิลีนในปริมาณที่สูงกว่าปกติ ทำให้ต้นไม้ทิ้งดอกและผล จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกือบหมดต้น ส่วนการทิ้งใบนั้นมักจะพบในส่วนใบที่มีอายุมากกว่าใบที่อ่อนกว่า สังเกตได้จากใบที่อยู่ทางส่วนล่างของกิ่งกระจายไปทุกบริเวณของต้น แต่ไม้ผลบางชนิดอาจจะไม่แสดงอาการทิ้งใบแต่จะยืนต้นตายทั้งที่มีใบเต็มตันก็ได้ เช่น มะม่วง ขนุน
- เอนเหมือนจะล้ม เพราะรากไม่สามารถยึดเกาะดินได้อย่างมั่นคง ทำให้ต้นไม้เหล่านี้อาจล้มลงทำความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนและสวนสวยๆ จำเป็นต้องหาไม้ค้ำยันให้ต้นตั้งตรงตามเดิม
โดยปกติ การเอาตัวรอดของต้นไม้ มักจะเป็นการสร้างรูเปิดให้ตัวเอง เช่นกรณีที่ต้นไม้ถูกน้ำท่วมสูงถึงกลางต้น ต้นไม้จะสร้างรูเปิดขึ้นเหนือผิวน้ำ เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงราก ยิ่งมีการสร้างรูเปิดมาก ก็ยิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้น แต่หากน้ำท่วมสูงมากจนปิดรูเปิดนั้น ต้นไม้ก็จะตายเช่นกัน
การแก้ปัญหา ต้นไม้โดนน้ำท่วมขังยาวนาน
- อย่าเหยียบย่ำพื้นดินในบริเวณโคนต้นไม้โดยเด็ดขาด เพราะบริเวณโคนรากของต้นไม้โดยทั่วไปจะเป็นรากอากาศ หากต้นไม้มีรากฝอยมาก จะทำให้รากช้ำ และจมลงในดินที่ชุ่มน้ำทำให้เกิดการขาดอากาศซ้ำ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าหลังน้ำท่วมและน้ำลดแล้ว ดินอาจไม่แข็งพอจะให้ต้นไม้ยึด จึงทำการเหยียบหรือกดหน้าดินทับเข้าไปอีก ทำแบบนี้จะทำให้ต้นไม้ตายเร็วขึ้น
- ทำให้เกิดสภาพน้ำมีการเคลื่อนไหว หากพื้นที่ใดมีการท่วมขังเป็นเวลานาน ทางแก้ง่ายๆ คือ ทำให้น้ำในบริเวณโคนต้นมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างออกซิเจนในน้ำ จะทำให้รากพืชสามารถดูดซับออกซิเจนได้บางส่วน ข้อสังเกตุคือ หากมีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา แม้เป็นน้ำท่วมขังเวลานาน ต้นไม้บางชนิดที่ไม่ทนน้ำท่วมก็จะอยู่รอดได้ยาวนานขึ้น ต่างจากน้ำนิ่งที่ท่วมขัง แม้ท่วมไม่นาน ต้นไม้ก็อาจตายเร็วขึ้น
- เสริมคันดินและสูบน้ำออก เป็นวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเกินจะรอ
- ใช้กังหันตีน้ำเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับต้นไม้ หากไม่สามารถทำให้น้ำเคลื่อนไหวในสภาพท่วมขังได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเพื่อช่วยทุนแรงในการเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช
ในพื้นที่ที่มีปัญหาของโรกรากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา หลังน้ำลดแล้วหากพืชยังมีชีวิตอยู่ ให้ราดโคนต้นพืชหรือทาด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตาแลคซิล (ริโดมิล) หรือ อีโฟไซท์-อลูมินั่ม (กาลิเอท) (กรณีเกิดแผลที่โคนต้นพืชจะถากเนื้อเยื่อพืชที่เสียออกแล้วทาด้วยสารเคมี) โดยสารเคมีดังกล่าวจะใช้กับอาการรากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจาก เชื้อราพิเทียม (Pythium spp.) หรือไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.)
สำหรับโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อราฟูซาเรี่ยม (Fusarium spp.) , ไรซ๊อกโทเนีย (Rhizoctonia spp.) หรือ สเคลอโรเที่ยม (Sclerotium spp.) ให้ราดโคนต้นด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี (เทอร์ราคลอร์, บลาสสิโคล) นอกจากนี้อาจมีการปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเล็กน้อย
ก็หวังว่าเกษตรจะเหลือต้นไม้ในเรือกสวนไร่นาบางส่วนไว้เก็บกินต่อ แต่หากต้นไม้นั้นไม่รอดจริงๆ ก็ต้องตัดใจทิ้งและปลูกขึ้นมาใหม่
อย่างไร ทางเราก็ขอเป็นกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยทุกท่านในครั้งนี้ให้ต่อสู้และผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดีและปลอดภัยทุกคน