ผักสวนครัว รั้วกินได้

ผักสวนครัว รั้วกินได้

หากเอ่ยถึงคำว่า ผักสวนครัว รั้วกินได้ หลายคนคงคุ้นชินกันดี ผมยังจำได้ดีว่าคือหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงริเริ่มไว้เมื่อหลาย 10 ปีก่อน ที่แปลงรั้วบ้านให้เป็นสิ่งที่เราสามารถกินได้ บ้างก็ปลูกพืชเลื้อยริมรั้ว บ้างก็ปลูกสมุนไพรไว้ติดบ้าน เหล่านี้เป็นประโยชน์มากมายที่สามารถทำรั้วให้สวยงามและยังใช้ประโยชน์ในการบริโภคได้ดีอีกด้วย

โดยปกติแล้ว บ้านเมืองเรานั้น พืชสวนครัว ยังคงเป็นลักษณะไร่นาสวนผสม ที่รั้วรอบบ้านอาจจะมีต้นกระถิน และไม้อื่นๆ ที่สามารถกั้นเป็นกำแพงรั้วได้ และนอกจากนี้ยังมีชะอม มะนาว มะกรูด แคต้นเตี้ยที่ดอกดกตลอดปี ถัดไปเป็นมะลิกอใหญ่ หลังบ้านมีบึงเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยกอบัวหลากสีที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้ทั้งคนและปลาในบ่อ ถัดไปก็เป็นมะพร้าวทั้งน้ำหอม มะพร้าวกะทิ บ้านละต้นสองต้นก็กินกันได้ไม่อดอยากแล้ว เด็ดยอดผักบุ้ง ผักกระเฉดมาต้มจิ้มน้ำพริกสบายไม่ต้องเสียเงินไปซื้อผักปลาที่ไหน ข้างบ้านก็มีกล้วยหลากหลายพันธุ์ขึ้นกันเต็ม ปะปนกับกระจับ กระเจี๊ยบ โหระพา กะเพรา ตะใคร้ ที่ปลูกใกล้ๆ กับบึงเลี้ยงปลานิล ช่อน ยี่สก ปลาดุก อยู่รวมกันได้ทั้งนั้น เพียงแต่ต้องแบ่งเนื้อที่ไว้ให้สำหรับอนุบาลลูกปลาซักหน่อยไม่ต้องใหญ่มากนัก ผักบุ้ง กระเฉดช่วยเป็นที่หลบซ่อนจากปลาใหญ่ได้เป็นอย่างดี เหล่านี้ถือเป็น ผักสวนครัว รั้วกินได้ อย่างดี

ซึ่งเทคนิคการปลูกผักสวนครัวเหล่านี้ใครทำได้ไม่อดตาย โดยปกติแล้ว ผักสวนครัวรั้วกินได้จะมีด้วยกัน 8 ตระกูล ผสมกับการทำไร่นาสวนผสมไปในพื้นที่อาศัย คือแบ่งพื้นที่ออกใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง แบ่ง 20-30% มาทำบ่อเก็บน้ำและใช้เลี้ยงปลากับเลี้ยงหอยขมไปพร้อมกัน แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ พื้นที่ปลูกเครื่องเทศสมุนไพร พื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ศิลปาชีพ ไม้พลังงานหรือพืชเศรษฐกิจชองภูมิภาค และพื้นที่อีกส่วนหนึ่งทำคอกสัตว์เลี้ยงอาจเป็นสัตว์กินหญ้า เช่น ห่าน กระต่าย เป็ด ไก่ โค กระบือ แพะ แกะ เป็นต้น การกระจายงานหลายอย่างทำให้เรามีงานทำตลอดปีในไร่นาของเราเอง และเศษเหลือจากงานหนึ่งก็นำไปใช้ต่อในงานอื่น เช่น ปลูกข้าวได้ข้าวกับฟาง นำฟางไปเพาะเห็ดเป็นต้น การปลูกไม้ยืนต้น เป็นพืชพลังงานอาจปลูกริมรั้วปล่อยให้สูงเต็มที่ แต่พืชอื่นจะควบคุมความสูงไว้ที่ประมาณเมตรครึ่งถึงสองเมตร โดยการตัดย่อและแต่งพุ่มเพื่อให้ปฏิบัติดูแลได้ง่าย เช่น ฝรั่ง มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ ฯลฯ เศษพืชจะไม่เผาท้องแต่นำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพโดยนำมาทำให้เป็นปุ๋ยละลายช้าก่อนด้วยการคลุกแร่ม้อนท์ หรือสเม็คไทต์หรือภูไมท์ซัลเฟต การเกษตรแบบนี้ ยั่งยืน เป็นแนวการทำเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันที่อยู่ได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ผักสวนครัว รั้วกินได้

การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ยังไม่รวมถึงตำลึง ผักตระกูลแตง ตระกูลเถาว์ ที่ชอบเลื้อยข้างรั้วรอเวลาให้คนเดินผ่านไปมาเด็ดไปต้มยำทำแกงอร่อยเหาะ มีหลายโครงการที่ยังสนับสนุนให้ใช้ชีวิตพอเพียงอยู่ เช่น โครงการเกษตร สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน ให้เพาะเห็ดนางฟ้า การปลูกผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสุกรขุน เพื่อยึดหลักพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ แถมยังลดรายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นได้อีกด้วย ตามโครงการหมู่บ้านแต่ละท้องที่ ทริเริ่มใช้ระบบ การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ พืชสมุนไพร เป็นตัวอย่างที่ดีที่ควรริเริ่ม อย่างเช่น ปลูกพืช ผักสวนครัว รั้วกินได้ ทุกครัวเรือนอย่างน้อยครัวเรือนละ 5 อย่าง เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคเหลือจึงจำหน่าย ใช้ปุ๋ยชีวภาพในการผลิตพืชไร่และการทำนา ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในการทอเสื่อกกไว้ใช้ มีการทำบัญชี รายรับ – รายจ่าย

ผักสวนครัว หรือพืชสวนครัว อย่างเช่น พริก กระเพรา โหระพา แมงลัก ตะไคร้ มะกรูด พริกไทย มะอึก มะนาว (กะปิ น้ำปลา น้ำตาล) รั้วกินได้ เช่น ตำลึง ขจร โสน ถั่วพู มันปู กระถิน มะขามเทศ บวบ ฟักเขียว มะระ มะเขือเครือ ไผ่ น้ำเต้า ฟักข้าว ผักแป๋ม เหล่านี้ คือแนวทางประกอบการพิจารณาเลือกปลูกพืชผสม พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง หรือเอนกประสงค์ หากเลือกปลูกพืชผสมหลายอย่างในพื้นที่เดียวกันต้องอาศัยคำแนะนำทางวิชาการ และประสบการณ์ หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะพืชบางชนิดจะปลูกร่วมกันได้ บางชนิดไม่ได้ การประกอบอาชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกผักสวนครัว ลดรายจ่ายด้านอาหารในครอบครัว เศรษฐกิจพอเพียง เป็นการดำเนินชีวิตทางสายกลาง ยึดหลักการพึ่งพาตนเอง

การปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆ ศึกษาไว้มีประโยชน์มากมาย

ชนิดแรกเป็นการปลูกพืชตระกูลแตงและผักตระกูลถั่ว ได้แก่ แตงกวา แตงโม แตงไทย ฟักทอง บวบ น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก และถั่วอื่นๆ

ผักสวนครัว รั้วกินได้

  • ผักต่างๆ เหล่านี้มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ งอกเร็ว เช่นผักประเภทเลื้อย ถ้าจะปลูกให้ได้ผลดีและดูแลรักษาง่ายควรทำค้าง
  • วิธีการปลูก หยอดเมล็ดโดยหยอดในแปลงปลูก หรือภาชนะปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด
  • เมื่อเมล็ดงอกมีใบจริง 3-5 ใบ หลังจากนั้นถอนแยกให้เหลือเแพาะต้นที่แข็งแรง หลุมละ 2 ต้น
  • ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังเมล็ดงอก 2 อาทิตย์ เมื่อเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
  • ให้น้ำสม่ำเสมอ คอยดูแลกำจัดวัชพืช และแมลงต่าง ๆ
  • เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 40-60 วัน หลังหยอดเมล็ด

การปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและผักกาด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และบร๊อกโคลี

ผักสวนครัว รั้วกินได้

  • ผักตระกูลนี้มีเล็ดค่อนข้างเล็ก บางชนิดมีราคาแพงมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องสั่งเมล็ดมาจากต่างประเทศ
  • วิธีปลูก หยอดเมล็ดเป็นหลุมๆ ละ 3-5 เมล็ด ห่างกันหลุมละ 20 เซนติเมตร หรือโรยเมล็ดบางๆ เป็นแถวห่างกันแถวละ 20 เซนติเมตร หลังหยอดเมล็ดหรือโรยเมล็ด 10 วัน หรือเมื่อมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น หรือหากโรยเมล็ดเป็นแถวให้ถอนอีก ระวังระยะต้นไม่ให้ชิดกันเกินไป
  • ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังจากถอนแยกหรือทำระยะปลูกแล้ว
  • หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10 วันใส่ปุ๋ยยูเรียครั้งที่สอง
  • อายุการเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิดแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น คะน้า กวางตุ้ง เก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 30-45 วัน ผักกาดหัว 45-55 วัน ผักกาดขาวปลี เขียวปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-60 วัน หลังหยอดเมล็ด
  • เมื่อเก็บเกี่ยวไม่ควรถอนผักทั้งต้น เก็บผักให้เหลือใบทิ้งไว้กับต้น 2-3 ใบ ต้นและใบที่เหลือจะสามารถเจริญให้เป็นผลผลิตเก็บเกี่ยวได้อีก 2-3 ครั้ง
  • ข้อควรระวัง ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ผักตระกูลนี้มักมีปัญหาโรคและแมลงค่อนข้างมากต้องคอยดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด

การปลูกพืชผักตระกูลพริก มะเขือ ได้แก่ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ

ผักสวนครัว รั้วกินได้

  • ผักตระกูลนี้ควรมีการเพาะกล้าก่อนย้ายลงปลูกในแปลง
  • การเพาะกล้า เตรียมดินในกะบะเพาะหรือในถุงพลาสติก
  • หยอดเมล็ดในถุงเพาะ ถุงละ 3-5 เมล็ด ถ้าเพาะในกะบะเพาะ ควรเว้นระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ระหว่างแถว 10 เซนติเมตร
  • เมื่อเมล็ดงอกแล้วมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกเหลือต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ไว้ 2 ต้น
  • เมื่อกล้ามีใบจริง 5-6 ใบ หรือหลังเพาะกล้าประมาณ 30 วัน ย้ายกล้าลงแปลงปลูก
  • เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ หรือเริ่มเจริญเติบโต ใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง
  • เมื่อต้นเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 12-24-12
  • อายุการเก็บเกี่ยว มะเขือเทศประมาณ 50-60 วันหลังย้ายกล้าและพริก มะเขือ ประมาณ 60-75 วัน หลังย้ายกล้า

การปลูกพืชผักตระกูลผักชีและผักบุ้ง ได้แก่ ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง

ผักสวนครัว รั้วกินได้

  • ควรนำเมล็ดแช่น้ำก่อนปลูก ถ้าเมล็ดลอยให้ทิ้งไปและนำเมล็ดที่จมน้ำมาเพาะ
  • หว่านเมล็ดในแปลง โดยจัดแถวให้ระยะห่างกัน 15-20 เซนติเมตร กลบดินทับบางๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร สำหรับขึ้นฉ่ายไม่ต้องกลบเมล็ด เพราะเมล็ดจะเล็กมาก หากเตรียมดินละเอียดเมล็ดจะแทรกตัวลงไปในระหว่างเม็ดดินได้เอง
  • ผักบุ้งจะงอกใน 3 วัน ผักชีประมาณ 4-8 วัน และขึ้นฉ่ายประมาณ 4-7 วัน
  • เมื่อกล้างอกมีใบจริง ถอนแยกและพรวนดินให้โปร่งเสมอจนเก็บเกี่ยว
  • ผักบุ้งจีนเก็บเกี่ยวได้ภายใน 15-20 วัน ผักชี 45-60 วัน และขึ้นฉ่าย 60-70 วัน
  • สำหรับผักชีและขึ้นฉ่าย ไม่ชอบแสงแดดจัด อาจปลูกในที่ ๆ มีร่มเงาได้ แต่สำหรับผักบุ้งจีน ต้องการแสงแดดตลอดวัน

การปลูกพืชผักตระกูลโหระพา กะเพรา แมงลัก และตระกูลผักชีฝรั่ง ได้แก่ โหระพา กะเพรา แมงลักและผักชีฝรั่ง

ผักสวนครัว รั้วกินได้

  • เตรียมดินให้ละเอียด หว่างเมล็ดให้ทั่วแปลง ใช้ฟางกลบ หรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วโรยทับบางๆ รดน้ำตามทันทีด้วยบัวรดน้ำตาถี่
  • เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าภายใน 7 วัน
  • เมื่อกล้าอายุ 1 เดือน ถอนแยกจัดระยะต้นให้โปร่ง หรือใช้ระยะระหว่างต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตร
  • โหระพา กะเพรา แมงลัก เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 45-50 วัน ผักชีฝรั่ง เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 60 วัน
  • สำหรับโหระพา กะเพรา และแมงลัก ในระหว่างการเจริญเติบโต ให้หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ลำต้นและใบเจริญเติบโตได้เต็มที่
  • ผักชีฝรั่ง ตัดใบไปรับประทาน เหลือลำต้นทิ้งไว้จะสามารถเจริญเติบโตได้อีก

ขอบคุณแหล่งที่มา >การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ 9 ชนิด

share on: