การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

ถ้าพูดถึง แนวทางการทำเกษตร ตามพระราชดำริฯ ร.9 หลายคนคงนึกถึง “ทฤษฎี” ที่เป็นแนวคิดแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตร

ที่ได้ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยเพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร ให้เกษตรกรได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นบ่วงแห่งความยากจนลง นั่นคือ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ นั่นเอง

หลักการของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ ง่ายมาก เพราะเป็นแนวคิดที่จัดพื้นที่ใช้ประโยชน์ออกเป็นส่วนๆ ที่ง่ายต่อการจัดการและดูแล โดยวิธีการคือ แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 4 ส่วนก่อน คือ 30/30/30/10

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

ในส่วนที่ 1 คือเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ และให้ความสำคัญในเรื่องน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตรกรรม พื้นที่นี้ให้ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 30% ของพื้นที่ทั้งหมด
ในส่วนที่ 2 พื้นที่เพาะปลูกเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารหลัก จำพวกข้าว และพืชที่เป็นอาหารหลัก จำนวน 30% ของพื้นที่
ในส่วนที่ 3 ให้ปลูกผลไม้ยืนต้น ที่สามารถเก็บดอกผลไว้กินไว้ขายได้ และทำรายได้เสริม จำนวน 30% ของพื้นที่
สุดท้ายส่วน 4 เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ยุ้ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่

สำหรับสัดส่วนของพื้นที่นั้น อาจสามารถปรับเพิ่มหรือลดได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง สำหรับผมแล้วคิดว่า น้ำสำคัญ และเราอาจไม่ใช่ชาวนาที่ปลูกข้าวกินเป็นอาชีพ ถ้าปลูกกันทุกครัวเรือนคงไม่มีคนซื้อ ก็อาจปรับลดแล้วไปเพิ่มในส่วนของไม้ผลแทน หรือใครอาจคิดว่าปลูกข้าวเป็นรายได้เสริมก็ให้ลดส่วนของไม้ผลลงแล้วไปทดแทนที่พื้นที่นาข้าว เพราะไม้ผลอย่างมะม่วง มีแค่ 4-5 ต้นก็เก็บไม่ทันขายกันแล้วในบางสายพันธุ์

ดัดแปลงสภาพพื้นที่ ให้เหมาะสมกับการทำ เกษตรทฤษฎีใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

ด้วยการขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเพียงพอต่อการนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้ทั้งปี แต่ต้องคำนึงเรื่องการจัดการทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลงได้ในระยะยาวด้วย โดยสามารถทำเป็นท้องร่องให้กว้างพอประมาณเพื่อความเหมาะสมได้

ในพื้นที่ส่วนที่ 2 ที่ใช้ปลูกข้าว ควรใช้วิธีการดำนา หรือ การปลูกข้าวต้นเดียว เพราะจะทำให้ได้ผลผลิตดีกว่าการปลูกข้าวแบบหว่าน เริ่มแรกอาจมีการปลูกพืชตระกูลถั่วก่อน เนื่องจากถั่วเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เจริญเติบโตเร็ว ปรับสภาพดินให้ดี ลดรายจ่ายในเรื่องปุ๋ย หลังเก็บเกี่ยวสามารถไถกลบและซังพืชจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้นาข้าว และไม่ควรใช้การเผาตอซัง

ในพื้นที่ส่วนที่ 3 อาจทำเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์ที่ท้องถิ่นนิยม ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกพืชผัก ปลูกไม้ใช้สอย และพื้นที่การปลูกส่วนนี้ อาจใช้พื้นที่ทั้งหมดรวมกับพื้นที่สำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยได้ โดยการรวมสองส่วนเข้าด้วยกัน เรียกว่า ปลูกบ้านในสวนเลยก็ได้

การทำเกษตรทฤษฎีใหม่

สำหรับพื้นที่ส่วนที่ 4 นี้อาจมีเหลือเพียงน้อยนิด ไว้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์เล็กๆ ใต้ถุนเรือน หรือผสมผสานในการปลูกบ้านเรือนยกสูงบนสระน้ำ ให้ใต้ถุนเป็นคอกเลี้ยงเป็ดไก่ หมู ติดกับสระน้ำ โดยในน้ำก็มีการเลี้ยงปลาดุกปลานิลผสมกัน เป็นแนวทางการเกษตรแบบพึ่งพาอาศัยกัน

จะเห็นได้ว่า พื้นที่ทุกส่วนสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เป็นแนวคิดที่ยั่งยืน แนวคิดนี้แต่เดิมเหมาะกับเกษตรกรที่มีพื่นที่ทางการเกษตรค่อนข้างมาก แต่สำหรับเกษตรกรที่มีมีพื้นที่น้อย สามารถที่จะทำได้โดยการลดหลั่นของพื้นที่ทำกินในแบบผสมผสานพึ่งพาอาศัย และพัฒนาสู่พื้นที่ใน การทำเกษตรอินทรีย์ ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไป

ขอบคุณที่มาเรื่อง แนวทางการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จาก : การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางพ่อหลวง

share on: