เมื่อ ดิน และ ปุ๋ย มีความสำคัญต่อการทำ เกษตรอินทรีย์ เป็นอย่างมาก ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ก็ไร้ซึ่งผลผลิต…
เมื่อทั้งสองอย่างล้วนมีความสำคัญ เกษตรกรจึงต้องเรียนรู้ในการบำรุงดิน ด้วยปุ๋ยสูตรพิเศษอย่าง ปุ๋ยหมักชีวภาพ EM เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ จะไม่ใช้เคมีเลย ฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องการผลิตปุ๋ยแบบอินทรีย์ จึงสำคัญเป็นอันดับต้นๆ สำหรับการทำเกษตรทุกชนิด
ก่อนอื่นต้องมาดูประโยชน์กันก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจถูกว่า ควรทำหรือไม่…
ประโยชน์ของปุ๋ยหมักชีวภาพ
ประโยชน์ของการทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อบำรุงดิน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับดิน ทำให้พืชก็ดูดซึมสารอาหารจากดินได้ดีขึ้น แบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
- เมื่อดินเป็นกรด – ด่าง ปุ๋ยจะช่วยปรับสภาพของดินให้ดีขึ้น ให้เหมาะกับการเติบโตของพืช
- ดินแข็ง ดินแฉะ ปุ๋ยจะช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำและอากาศได้ดี ทำให้รากพืชแข็งแรง และหาอาหารได้ง่ายขึ้น
- เป็นตัวย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้กลายเป็นธาตุอาหารแก่พืช ทำให้พืชดูดซึมไปใช้ได้ทันที
- เป็นตัวช่วย เร่งการเจริญเติบโตของพืชให้สมบูรณ์แข็งแรง เมื่อพืชแข็งแรง การต้านทานโรคและแมลงก็ดีขึ้น
- เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างฮอร์โมนพืช พืชแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง และมีคุณภาพ
- ย่อยสลายได้ช้า ทำให้ดินสามารถรับแร่ธาตุต่างๆ ได้นานขึ้น
รู้ถึงคุณประโยชน์ คราวนี้มารู้ถึงความหมายของปุ๋ยชนิดนี้กัน
ปุ๋ยหมักชีวภาพ ก็คือ “ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผ่านกระบวนการหมักกับน้ำเอนไซม์” จะได้ปุ๋ยสูตรพิเศษที่ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นอาหารแก่พืช พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที ทำให้พืชแข็งแรง ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช
การทำปุ๋ยหมักชีวภาพอินทรีย์
สำหรับวิธี การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ นั้นให้เตรียมวัสดุดังนี้
- น้ำเอนไซม์ 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 ลิตร น้ำเปล่า 100 ลิตร
- แกลบสด 1 กิโลกรัม
- แกลบดำ 1 กิโลกรัม
- มูลสัตว์ กากถั่ว ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว รวมกันประมาณ 3 กิโลกรัม
- รำละเอียด 1 กิโลกรัม
- เศษพืชผัก ผลไม้ สด 1 กิโลกรัม
- อินทรียวัตถุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หญ้าแห้ง ฟาง ใบไม้ 1 กิโลกรัม
เทคนิคเพิ่มเติมในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ดู >>> https://kaset.vwander.com/fertilizer/ปุ๋ยหมักชีวภาพ.html
เมื่อเตรียมวัสดุมาพร้อมแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กันเลย
- ผสมน้ำเอนไซม์ กากน้ำตาล และน้ำ ในถังพลาสติก คนให้ทั่ว
- ผสมแกลบ มูลสัตว์ กากถั่ว ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว และเศษพืชผักผลไม้สด ให้เข้ากัน แล้วทำการเกลี่ยกองปุ๋ยบนพื้นให้หนาประมาณ 30-40 ซม.
- ปิดทับด้วยอินทรีย์วัตถุเพื่อไม่ให้โดนแสงแดด
- ใช้น้ำเอนไซม์ที่ผสมแล้ว ตักใส่ฝักบัว รดให้กองปุ๋ยไม่ต้องแฉะมาก ให้มีความชื้นประมาณ 30% รดวันเว้นวัน
- ทิ้งไว้ประมาณ 5-20 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณ ไม่ต้องกลับกองปุ๋ย ถ้าปุ๋ยกองใหญ่มากใช้เวลา 20 วัน
ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่ผ่านการหมักแล้ว นำมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่กระสอบปุ๋ย สามารถเก็บไว้ได้นานปี ซึ่งปุ๋ยที่ได้ จะประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ต่างๆ ที่มีสารอาหารเหมาะสำหรับพืชนำไปใช้ได้ทันที ปุ๋ยที่ดีจะมีกลิ่นหอม มีใยสีขาวของเชื้อรา ในระหว่างการหมักถ้าไม่เกิดความร้อนแสดงว่ามีข้อผิดพลาด แก้ไขด้วยการใช้ฟาง เศษใบไม้ ปิดทับเพื่อไม่ให้โดนแสงส่องถึง แล้วรดด้วยน้ำเอนไซม์พอเปียก ทำซ้ำทุกวัน อุณหภูมิในการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40-50 องศาเซลเซียส ถ้าให้ความชื้นสูงเกินไป จะเกิดความร้อนมาก ฉะนั้นความชื้นที่พอดี คือประมาณ 30%
การนำปุ๋ยหมักชีวภาพไปใช้กับพืชผัก
ใช้โรยผสมกับดินในแปลงปลูก อัตราส่วนปุ๋ย 1 กิโลกรัมต่อพื้นที่ดิน 1 ตารางเมตร อาจใช้ปุ๋ยรองก้นหลุมก่อนทำการปลูกพืชก่อนได้ ส่วนที่เป็นน้ำ สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมัก EM ได้ด้วย
ไม่ควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้า ใบไม้แห้ง ฟาง โดยที่ยังไม่ผสมกับปุ๋ย เพราะจะเกิดความร้อน ทำอันตรายแก่รากพืช
ควรใช้ปุ๋ยรองก้นหลุม แล้วใช้ดินปลูกเทรอบโคน คลุมด้วยเศษหญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม การบำรุงต้นไม้ในกระถาง ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ 1-2 กำมือ เทรอบโคนในกระถางเดือนละ 1 ครั้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ ใช้เวลาสลายสารอาหารสำหรับพืชเร็วกว่าปุ๋ยหมักธรรมดา ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด เมื่อใส่ลงดินที่มีความชื้นพอเหมาะ เชื้อจุลินทรีย์ที่ได้ “ปุ๋ยหมักชีวภาพ” จะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียวัตถุในดินให้เป็นประโยชน์ต่อต้นไม้ จึงไม่จำเป็นต้องให้ในปริมาณมาก และในดินควรมีอินทรีย์วัตถุพวกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง กับความชื้นเพียงพอ ต้นพืชจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากสารอาหาร