ขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพร อะไรก็ดีทั้งนั้น อย่างแก่นฝาง ถือเป็นไม้ที่มากด้วยคุณค่า มีสรรพคุณมากมาย
ปัจจุบันนิยมนำมาทำเป็นชาฝาง ดื่มเป็นยาเย็น แก้ร้อน ขับลม ดีกว่าดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำชาเขียวผสมน้ำตาล เพราะน้ำฝางทำไม่ยาก แค่นำเอาเนื้อไม้ฝางที่ตากจนแห้งแล้วมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลนิดหน่อย ใส่ใบเตย หรือสมุนไพรอื่นเพื่อให้ได้กลิ่นและรสชาติเพิ่มเติมก็อร่อยได้ใจแล้ว
อย่างประโยชน์ของแก่นฝางนั้นก็มีมากมายหลายแบบ หนึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้ว ทั้งยังสามารถใช้ต้มน้ำกินเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี แก้ปอดพิการขับหนอง ขับเสมหะ ทำโลหิตให้เย็น แก้โรคหืด แก้ร้อนใน ช่วยลดความร้อนในร่างกาย กระหายน้ำ แก้ธาตุพิการ แก้กำเดา มีรสฝาด จึงใช้แก้โรคทางสมานได้ เช่น แก้ท้องเสีย ท้องร่วง ฆ่าเชื้อโรคบางชนิดได้
ซ้ำยังสามารถแก้โลหิตออกทางทวารหนัก และแก้อาการเลือดออกภายในอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้หรือคนที่ขาดวิตามินเค มักเลือดไหลหยุดช้า คนที่เส้นเลือดฝอยเปราะแตกง่าย และคนที่มีเลือดกำเดาออกบ่อย ดื่มน้ำฝางจะค่อยๆ ช่วยให้เลือดหยุดไหลได้
แก่นฝาง
ฝาง ถือเป็นตัวยากลุ่มบำรุงเลือด ฟอกเลือด หรือในกลุ่มยาสตรี เพราะมีสรรพคุณช่วยให้เลือดดี เช่น ขับโลหิตระดู ใช้ฝางเสนหนัก 4 บาท แก่นขี้เหล็กหนัก 2 บาท ต้มกินก่อนประจำเดือนมา ช่วยให้ระดูไม่เน่าเสียและมาสม่ำเสมอ แก้พิษโลหิตร้าย เป็นยาขับระดูและบำรุงโลหิต วิธิทำ ต้มน้ำกับใบเตยให้เดือน นำแก่นฝาง ประมาณ 5-6 ชิ้น ลงไปแช่นาน 5 นาที แล้วเอาออก วางให้แห้ง นำมาใช้อีกได้ 3 ครั้ง แล้วทิ้ง
จากสรรพคุณในเรื่องสมุนไพรที่บรรยายกันไม่หมด แต่รู้หรือไม่ว่า แก่นฝาง เร่งผลขนุนให้ออกลูกได้ดีมาก จากปากคำของคุณลุงไสว ศรียา ปราชญ์ชาวบ้านของอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก สามารถบังคับให้ต้นขนุนติดลูก ด้วยแก่นฝางได้ โดยท่านจะบังคับให้ขนุนติดลูกตรงตำแหน่งที่ต้องการได้เลย
นี่ถือเป็นวิธีที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และไม่อยากให้สูญหายไป หากพูดถึงการบังคับขนุนให้ออกลูกด้วยแก่นฝางในบริเวณที่จุดที่ต้องการ ต้องนึกถึงลุงไสว ศรียาแน่นอน หลายท่านคงจะนึกแปลกในใจว่าขนุนสามารถกำหนดหรือบังคับจุดที่จะให้ออกลูกได้ด้วยหรือ คำตอบคือ ได้ ด้วยสรรพคุณของไม้ฝางที่ว่านี้
สมุนไพรไทย ฝาง
ฝาง ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Caesalpinia sappan L. ชื่อสามัญ คือ Sappan Tree อยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE ชื่ออื่นที่เรียกกัน ง้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ฝาง ฝางส้ม (กาญจนบุรี) มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน สูง 5-8 เมตร สำต้นมีหนามโค้งสั้นๆ และแข็งทั่วทุกส่วน ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง 0.6-0.8 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม. โคนใบเฉียง ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง กลีบรองดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบเกยซ้อนกัน กลีบล่างสุดโค้งงอและใหญ่กว่ากลีบอื่น กลีบดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 10 อัน แยกเป็นอิสระ ผล เป็นฝักแบนแข็งเป็นจงอยแหลม เปลือกเป็นสันมน ปลายแหลม มีเมล็ดเป็นรูปรี 2-4 เมล็ด มีแก่นของไม้ที่มีสีแดง มีสารที่เป็นวัตถุไม่มีสี ชื่อ Haematoxylin อยู่ประมาณ 10% วัตถุนี้เมื่อถูกอากาศ อาจจะกลายเป็นสีแดง และมีแทนนิน เรซิน และน้ำมันระเหยนิดหน่อย
ฝางมี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งแก่นสีแดงเข้ม เรียกว่า ฝางเสน อีกชนิดหนึ่งแก่นสีเหลือง เรียกว่าฝางส้ม ใช้ทำเป็นยาต้ม 1 ใน 20 หรือยาสกัดสำหรับ Haematoxylin ใช้เป็นสีสำหรับย้อม Nuclei ของเซล ใช้แก่นฝางต้มเคี่ยว จะได้น้ำสีแดงเข้มคล้ายด่างทับทิมใช้ย้อมผ้าไหม งามดีมาก ใช้แต่งสีอาหาร ทำยาอุทัย และสำหรับ แก่นฝางเร่งผลขนุนนี้ ก็ใช้ได้ฝางได้ทั้งสองชนิด
แก่นฝางเร่งผลขนุนได้ตามต้องการ
อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีเพียงแก่นฝาง ที่เหลาให้เล็กเท่าไม้จิ้มฟัน หรือจะใหญ่กว่านั้นก็ได้เล็กน้อย ความยาวประมาณ 2 นิ้ว ฆ้อน มีด และต้นขนุน มีวิธีทำง่ายๆ คือ นำแก่นฝางที่เหลาแล้ว นำมาตอกเข้าไปในต้นขนุนตามจุดที่ต้องการให้ขนุนติดลูก ตอกให้ลึกจนกระทั่งตอกลงไปไม่ได้ หากมีแก่นฝางเหลือคาอยู่ที่ต้นให้หักออก เพียงเท่านี้เอง แล้วรอ ไม่นานต้นขนุนจะติดลูกตรงตำแหน่งที่ตอกแก่นฝางเอาไว้นั่นเอง
ทำไมขนุนถึงติดลูกตรงที่ตอกแก่นฝางลงไป
คุณลุงไสวเชื่อว่า ในไม้ฝางมีสารอยู่ชนิดหนึ่ง ที่ช่วยต้นขนุนติดลูก และเคยทดลองนำไม้เสียบลูกชิ้น และไม้ชนิดอื่นหลายร้อยชนิด มาตอกแทนแก่นฝาง แต่ก็ไม่ได้ผล ส่วนทางวิชาการก็ยังไม่มีการศึกษาถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่ข้อสันนิษฐานว่า วิธีการนี้เป็นการกระตุ้นให้ต้นขนุนติดลูกได้โดยการตัดท่อน้ำเลี้ยง หรือท่อส่งอาหารที่ไปเลี้ยงลำต้นส่วนที่อยู่เหนือรอยแผลขึ้นไปทำให้ตาขนุนแตกและอาจเกิดยอดอ่อน ฉะนั้นจึงพัฒนาเป็นลูกขนุนออกดอกต่อไป
คุณลุงไสว ได้ทดลองใช้วิธีนี้มานานแล้ว และได้ผลที่ชัดเจน และท่านยังให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจเรื่องการนำแก่นฝางมาช่วยเร่งให้ขนุนติดลูกอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม การกระตุ้นให้ขนุนติดลูกโดยแก่นฝาง ของคุณลุงไสว ศรียา